PERIODIC FEVER WITH APHTHOUS PHARYNGITIS ADENITIS (PFAPA) 


ฉบับแปลของ 2016
diagnosis
treatment
causes
Periodic Fever With Apthous Pharyngitis Adenitis (PFAPA)
PERIODIC FEVER WITH APHTHOUS PHARYNGITIS ADENITIS (PFAPA)
PFAPA ย่อมาจาก PERIODIC FEVER WITH APHTHOUS PHARYNGITIS ADENITIS ซึ่งหมายถึง กลุ่มอาการไข้กลับเป็นซ้ำ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ และแผลในปาก PFAPA มักเป็นในเด็กเล็ก มักเกิดครั้งแรกในเด็กอายุ
evidence-based
consensus opinion
2016
PRINTO PReS
1.PFAPA คืออะไร
2. การวินิจฉัยและรักษา
3. การใช้ชีวิตประจำวัน



1.PFAPA คืออะไร

1.1 โรคนี้คืออะไร ?
PFAPA ย่อมาจาก PERIODIC FEVER WITH APHTHOUS PHARYNGITIS ADENITIS ซึ่งหมายถึง กลุ่มอาการไข้กลับเป็นซ้ำ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ และแผลในปาก PFAPA มักเป็นในเด็กเล็ก มักเกิดครั้งแรกในเด็กอายุ <5 ปี โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง แต่อาการจะดีขึ้นเรื่อย ๆ โรคนี้ค้นพบครั้งแรกในปี คศ.1987 ซึ่งถูกเรียกว่า โรค Marshall’s syndrome

1.2 พบบ่อยแค่ไหน ?
ความชุกโรคนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน

1.3 สาเหตุของโรคนี้เกิดจากอะไร ?
ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้ ในช่วงที่มีไข้ภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้น ทำให้เกิดการอักเสบในปากและคอ การอักเสบมักหายเอง ไม่พบการติดเชื้อในระหว่างที่มีอาการของโรค

1.4 ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่ ?
มีรายงานผู้ป่วยโรคนี้ ในครอบครัวเดียวกัน แต่ยังไม่พบสาเหตุทางพันธุกรรมในโรคนี้

1.5 เป็นโรคติดเชื้อหรือไม่ ?
โรคนี้ไม่ใช่โรคติดเชื้อ และไม่ใช่โรคติดต่อ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้ออาจทำให้โรคกำเริบได้

1.6 อาการหลักคืออะไร ?
อาการหลัก คือ ไข้กลับเป็นซ้ำ ร่วมกับอาการเจ็บคอ, แผลในปาก ต่อมน้ำเหลืองโต ไข้มักเกิดทันทีทันใดมักเป็นระยะเวลานาน 3-6 วัน เด็กมักดูป่วยและมีอาการอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาการที่กล่าวข้างต้น แต่ละครั้งที่โรคกำเริบมักห่างกัน 3-6 สัปดาห์อย่างสม่ำเสมอ ระยะเวลาระหว่างโรคกำเริบเด็กมักปกติดี ไม่มีผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในโรคนี้

1.7 อาการของโรคเหมือนกันในเด็กทุกคนหรือไม่ ?
อาการหลักที่กล่าวข้างต้นมักพบในเด็กทุกคน อย่างไรก็ตามเด็กบางคนอาจมีอาการน้อย ในขณะที่บางคนมีอาการอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย, ปวดข้อ, ปวดท้อง , ปวดศีรษะ, อาเจียน หรือท้องเสีย


2. การวินิจฉัยและรักษา

2.1 วินิจฉัยได้อย่างไร ?
ไม่มีการตรวจเฉพาะสำหรับโรคนี้ การวินิจฉัยขึ้นกับการตรวจร่างกายและผลการตรวจเลือด การวินิจฉัยต้องตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้มีอาการคล้ายกันทิ้งไป

2.2 การตรวจใดบ้างที่จำเป็น ?
ค่าอักเสบ เช่น erythrocyte sedimentation rate (ESR) และ C-reactive protein (CRP) มักสูงขึ้นในระหว่างที่โรคกำเริบ

2.3 รักษาหายได้หรือไม่ ?
ไม่มีการรักษาจำเพาะต่อโรคนี้ จุดมุ่งหมายหลักคือการควบคุมอาการในระหว่างที่มีไข้ โรคมักดีขึ้นเองหรือหายไปในระยะต่อมา

2.4 การรักษา คือ อะไรบ้าง ?
อาการมักไม่หายสนิทด้วยยาพาราเซตามอลหรือ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ แต่อาจลดอาการลงได้บ้าง การให้ยาเพรดนิโซนเพียง 1 ครั้ง พบว่าลดระยะเวลาโรคกำเริบและเพิ่มระยะห่างของการกำเริบได้ ผู้ป่วยบางรายอาจพิจารณาผ่าตัดต่อมทอนซิล โดยเฉพาะในรายที่โรคมีผลต่อคุณภาพชีวิตมาก

2.5 การพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร ?
โรคนี้มักเป็นประมาณ 2-3 ปี และระยะห่างระหว่างการกำเริบของโรคห่างกันเรื่อย ๆ และอาการอาจหายไปได้เอง

2.6 โรคนี้หายสนิทหรือไม่ ?
โรคนี้มักหายได้เองเมื่อโตขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่พบอวัยวะถูกทำลาย การเจริญเติบโตมักปกติ


3. การใช้ชีวิตประจำวัน

3.1 โรคมีผลกระทบต่อเด็กและครอบครัวในการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร ?
คุณภาพชีวิตอาจได้รับผลกระทบจากไข้กลับเป็นซ้ำ การที่ได้รับการวินิจฉัยที่ล่าช้า อาจทำให้ผู้ปกครองกังวล และผู้ป่วยเด็กอาจได้รับการตรวจที่ไม่จำเป็น

3.2 เกี่ยวกับการไปโรงเรียน ?
ภาวะไข้อาจส่งผลต่อการไปโรงเรียน การไปโรงเรียนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง ควรมีการสื่อสารกับครูถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็ก ผู้ปกครองและครูควรอนุญาติให้เด็กทำกิจกรรมในโรงเรียนได้ตามปกติ ไม่เพียงแต่สนับสนุนให้เด็กประสบความสำเร็จในด้านการเรียนแต่ยังได้รับการยอมรับจากเพื่อนและครู ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและเป็นจุดมุ่งหมายของการดูแลเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง

3.3 การเล่นกีฬา ?
การเล่นกีฬาเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน ควรให้เด็กเล่นกีฬาตามปกติ เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความรู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากเพื่อน

3.4 อาหาร ?
ไม่มีอาหารเฉพาะสำหรับผู้ป่วยเด็กโรคนี้ เด็กควรได้รับอาหารครบ 5 หมู่ ที่มีโปรตีน แคลเซียม และวิตามินเพียงพอต่อการเจริญเติบโต

3.5 สภาพอากาศมีผลหรือไม่ ?
สภาพอากาศไม่มีผลต่อโรค

3.6 สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ?
เด็กสามารถได้รับการฉีดวัคซีนได้ อย่างไรก็ตามควรแจ้งแพทย์ก่อนได้รับวัคซีนเชื้อเป็นทุกครั้งว่าเป็นโรคนี้ เพื่อจะได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

3.7 เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด ?
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลโรคนี้อย่างชัดเจน แต่โดยทั่วไปควรได้รับการวางแผนครอบครัวก่อนเพื่อที่จะได้ปรับยาให้เหมาะสม เนื่องจากยาต้านการอักเสบอาจมีผลต่อทารกในครรภ์


 
สนับสนุนโดย
This website uses cookies. By continuing to browse the website you are agreeing to our use of cookies. Learn more   Accept cookies