1.1 อะไรคือโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ?
โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบเกิดจากการอักเสบของเส้นเลือดฝอย การอักเสบที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า
ภาวะเส้นเลือดอักเสบ และมักเกิดบริเวณหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณผิวหนัง, ลำไส้, และไต โดยภาวะอักเสบบริเวณหลอดเลือดทำให้มีเลือดออกในบริเวณผิวหนัง หรือเยื่อบุ ทำให้เกิดผื่นนูนสีแดงคล้ำหรือสีม่วง นอกจากนี้อาจมีเลือดออกที่บริเวณลำไส้หรือไต ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการถ่ายเป็นเลือดหรือปัสสาวะเป็นเลือดได้
1.2 พบได้บ่อยแค่ไหน?
โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบ ถึงแม้ไม่ใช่โรคที่พบบ่อยในเด็ก แต่ก็เป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มของโรคเส้นเลือดอักเสบทั้งหมดที่พบในเด็กอายุ 5-15 ปี พบในเด็กชายมากกว่าหญิง (2:1)
โรคนี้ไม่มีเกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ หรือการกระจายตัวตามเขตภูมิศาสตร์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในประเทศยุโรปและประเทศทางแถบซีกโลกเหนือ เกิดขึ้นในฤดูหนาว แต่อย่างไรก็ตามในบางครั้งพบผู้ป่วยในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและใบไม้ผลิด้วยเช่นเดียวกัน โรคเส้นเลือดอักเสบพบได้ประมาณ 20 ในประชากรเด็ก 100,000 รายต่อปี
1.3 สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคคืออะไร?
ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนแต่เชื่อว่าการติดเชื้อต่างๆ (เช่น ไวรัส และ แบคทีเรีย) เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรค และมักพบหลังการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ แต่อย่างไรก็ตาม โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบนี้สามารถเกิดตามหลังจากการใช้ยาบางตัว, แมลงกัด, สัมผัสอากาศเย็น, สารเคมี และได้รับสารอาหารบางอย่างที่ทำให้เกิดการแพ้ นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากปฏิกิริยาหลังการติดเชื้อ (ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองอย่างรุนแรงมากเกินไป)
พบมีการสะสมของส่วนประกอบของระบบภูมิคุ้มกัน เช่น อิมมูโนโกลบูลินเอ (IgA) ในรอยโรคของโรคเส้นเลือดฝอยอักเสบซึ่งแสดงถึงการตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันที่หลอดเลือดบริเวณผิวหนัง ข้อต่อ ระบบทางเดินอาหาร ระบบไต ส่วนระบบประสาทหรืออัณฑะพบไม่บ่อยนัก
1.4 โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่?ติดต่อกันได้หรือไม่?สามารถป้องกันได้หรือไม่?
โรคนี้ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ไม่ใช่โรคติดต่อ และไม่สามารถป้องกันได้
1.5 อาการแสดงที่สำคัญ?
อาการนำที่สำคัญ คือผื่นที่มีลักษณะเฉพาะในผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอักเสบ ผื่นที่เกิดขึ้นในช่วงแรกมักเป็นผื่นนูนแดงเป็นปื้นคล้ายลมพิษ หลังจากนั้นจะค่อยๆสีคล้ำขึ้นจนเป็นสีม่วง เรียกว่า "palpable purpura" เพราะว่ามีการยกตัวขึ้นของผื่นที่บริเวณผิวหนังจนสามารถสัมผัสได้ ผึ่นนูนมักเกิดบริเวณขาทั้งสองข้าง ก้น แต่บางครั้งรอยโรคอาจเกิดบริเวณอื่นในร่างกายได้ (แขนทั้งสองข้าง ลำตัว เป็นต้น)
อาการปวดข้อเฉยๆ หรือ อาการปวด และบวมจนขยับได้น้อย (ข้ออักเสบ) โดยทั่วไปมักเกิดบริเวณข้อเข่า ข้อเท้า (> 65%) ส่วนข้อมือ ข้อศอกและนิ้วมือพบได้น้อยกว่า อาการปวดข้อหรือข้ออักเสบมักเกิดร่วมกับอาการบวมและเจ็บของเนื้อเยื่อรอบๆข้อ การบวมของเนื้อเยื่อที่มือและเท้า หน้าผากและอัณฑะ อาจเกิดได้ในช่วงแรกของการเป็นโรคโดยเฉพาะในเด็กเล็ก
อาการทางข้อเป็นเพียงชั่วคราวและหายได้ภายในเวลาไม่กี่วันจนถึงสัปดาห์
เมื่อเส้นเลือดเกิดการอักเสบ ผู้ป่วยมากกว่า 60% มักมีอาการปวดท้องร่วมด้วย โดยมีลักษณะการปวดคือ ปวดเป็นๆหายๆ รอบๆสะดือ และอาจมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารตั้งแต่ความรุนแรงน้อยจนถึงมากได้ ส่วนลำไส้กลืนกันจนเป็นสาตุให้เกิดลำไส้อุดตันจนต้องผ่าตัดนั้นพบน้อยมาก
เมื่อเส้นเลือดที่ไตเกิดการอักเสบอาจทำให้เกิดเลือดออก (พบประมาณ 20-35% ของผู้ป่วย) และปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดง (ปัสสาวะเป็นเลือด) และโปรตีนในปัสสาวะ(ปัสสาวะมีโปรตีน) ปัญหาเกี่ยวกับระบบไตมักไม่รุนแรง ในบางกรณีที่พบน้อยมาก ปัญหาทางไตอาจเกิดขึ้นเป็นเดือนหรือปี จนนำไปสู่ภาวะไตวาย (1-5%) ซึ่งในกรณีนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไตร่วมประเมินด้วย
อาการแสดงดังกล่าวข้างต้นอาจนำมาก่อนผื่นขึ้นไม่กี่วัน อาจเกิดขึ้นทันทีหรือค่อยๆเกิดตามมาทีหลังได้
อาการอื่นๆเช่น ชัก เลือดออกที่สมองหรือปอด และอัณฑะบวม เนื่องจากการอักเสบของเส้นเลือดที่บริเวณอวัยวะต่างๆเหล่านี้ มักไม่ค่อยพบ
1.6 โรคนี้เป็นเหมือนกันในผู้ป่วยทุกคนหรือไม่?
โรคนี้มีความเหมือนกันไม่มากก็น้อยในผู้ป่วยแต่ละราย แต่อาการแสดงออกทางผิวหนังหรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องนั้นอาจแตกต่างกันได้มากในผู้ป่วยแต่ละราย
1.7 โรคนี้ในเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันหรือไม่?
โรคนี้ในเด็กและผู้ใหญ่ไม่มีความแตกต่างกันแต่มักไม่ค่อยเกิดในผู้ป่วยหนุ่มสาว
2.1 วินิจฉัยอย่างไร?
การวินิจฉัยโรคเส้นเลือดอักเสบเริ่มจากอาการเป็นหลัก และดูจากผื่นนูนที่มักเกิดบริเวณขาทั้งสองข้าง และก้น ร่วมกับอาการอย่างน้อยหนึ่งข้อต่อไปนี้ ปวดท้อง ปวดข้อหรือภาวะข้ออักเสบ และมีอาการทางไตร่วมด้วย (ส่วนใหญ่มักมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ) ควรวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่มีความคล้ายคลึงกันออกไปก่อน การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางจุลกายวิภาคจะพบว่ามีอิมมูโนโกลบูลิน เอ แต่มักไม่จำเป็นต้องทำเพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค
2.2 การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการทดสอบอะไรที่มีประโยชน์?
ไม่มีการตรวจใดที่เฉพาะเจาะจงต่อการวินิจฉัยโรคเส้นเลือดอักเสบ
ค่าอักเสบทั้ง Erythrocyte sedimentation rate (ESR) และ C-reactive protein (CRP ซึ่งเป็นการวัดการอักเสบ) อาจปกติหรือสูงขึ้นได้ การตรวจพบเลือดในอุจจาระอาจบอกถึงการมีเลือดออกจากลำไส้เล็ก การตรวจปัสสาวะตลอดช่วงการดำเนินโรคช่วยติดตามภาวะทางไต การมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะปริมาณเล็กน้อยพบได้บ่อยสามารถหายเองได้ การตรวจชิ้นเนื้อไตจำเป็นในผู้ป่วยที่มีภาวะทางไตรุนแรง (ในกรณีที่มีค่าการทำงานของไตลดลงหรือมีโปรตีนในปัสสาวะจำนวนมาก) การทำอุลตร้าซาวน์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง หรือดูภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น ภาวรลำไส้อุดกั้น
2.3 โรคนี้สามารถรักษาได้หรือไม่?
ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอักเสบส่วนใหญ่อาการดีมักไม่ต้องใช้ยาใด แค่เพียงนอนพักในขณะเกิดอาการ การรักษาส่วนใหญ่เพื่อประคับประคองอาการเช่น อาการปวดข้อ รักษาด้วยยาระงับปวด เช่น พาราเซตามอล หรือ
ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน และ นาพรอกเซน
การให้
ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (กินหรือฉีดเข้าเส้นเลือด) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแสดงระบบทางเดินอาหารที่รุนแรงหรือมีเลือดออก และอาการแสดงของระบบอื่นที่รุนแรงซึ่งพบไม่บ่อยนัก (เช่น อัณฑะ) หากมีอาการทางไตที่รุนแรง ควรตัดชิ้นเนื้อไตไปตรวจ และเริ่มให้การรักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย
2.4 ผลข้างเคียงจากยาที่ใช้รักษาคืออะไร?
ผู้ป่วยโรคเส้นเลือดอักเสบส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องได้รับยาในการรักษา หรือได้รับยาเพียงช่วงสั้นๆ ดังนั้นมักไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ในผู้ป่วยน้อยรายที่มีอาการทางระบบไตรุนแรงจำเป็นต้องได้ยาเพรดนิโซโลนและยากดภูมิคุ้มกันอื่นเป็นเวลานานอาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้
2.5 โรคนี้คงอยู่นานแค่ไหน?
ระยะเวลาเป็นโรคใช้เวลาทั้งหมดโดยประมาณ 4-6 สัปดาห์ ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยทั้งหมดมักเกิดการกลับเป็นซ้ำอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วง 6 สัปดาห์แรก โดยมักเป็นในช่วงสั้นๆและอาการรุนแรงน้อยกว่าครั้งแรกที่มีอาการ การกลับเป็นซ้ำของโรคมักเป็นไม่นาน และการกลับเป็นซ้ำไม่ได้บ่งชี้ถึงโรคที่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่หายเป็นปกติเหมือนเดิม
3.1 โรคนี้มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันของตัวเด็กและครอบครัวอย่างไรและจำเป็นต้องติดตามการตรวจประเภทไหนเป็นระยะหรือไม่?
โรคนี้ในเด็กส่วนใหญ่หายเองได้และมักไม่ทำให้เกิดปัญหาระยะยาว มีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่มีอาการทางระบบไตที่คงอยู่ตลอดหรือมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆจนเกิดภาวะไตวาย โดยทั่วไปเด็กและครอบครัวส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ควรเก็บปัสสาวะส่งตรวจหลายๆครั้งในช่วงที่มีการดำเนินโรคและในช่วง 6 เดือนหลังจากโรคเส้นเลือดอักเสบหายแล้ว เพื่อติดตามความผิดปกติของไตเพราะในผู้ป่วยบางรายอาการทางไตอาจเกิดขึ้นหลังจากมีอาการของโรคได้หลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
3.2 ไปเรียนได้หรือไม่?
ในช่วงแรกที่เจ็บป่วยควรจำกัดกิจกรรมทางกายและนอนพัก หลังจากหายแล้วสามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติและมีส่วนร่วมในกิจกรรมเดียวกับเพื่อนๆได้ โรงเรียนสำหรับเด็กเหมือนกับสถานที่ทำงานสำหรับผู้ใหญ่เนื่องจากเป็นที่ๆพวกเขาสามารถเรียนรู้วิธีในการเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองและประสิทธิภาพ
3.3 เล่นกีฬาได้หรือไม่?
สามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ตามกำลัง ดังนั้นคำแนะนำโดยทั่วไปอนุญาตให้ผู้ป่วยร่วมกิจกรรมทางกีฬาและเชื่อมั่นว่าพวกเขาจะหยุดพักเมื่อมีอาการปวดข้อ ขณะเดียวกันควรแนะนำครูพละในการป้องกันการบาดเจ็บจากกีฬาโดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่น ถึงแม้ว่าการลงน้ำหนักอาจไม่เป็นผลดีต่อภาวะข้ออักเสบ แต่โดยทั่วไปคิดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นน้อยกว่าความเสียหายทางจิตใจหากห้ามไม่ให้เล่นกีฬากับเพื่อนๆเพราะความเจ็บป่วย
3.4 ควรกินอาหารอะไร?
ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าอาหารมีผลต่อโรคนี้ โดยทั่วไปเด็กควรกินอย่างสมดุลตามวัย เด็กที่กำลังเจริญเติบโตต้องการอาหารที่เหมาะสม มีโปรตีน แคลเซียม และวิตามินที่เพียงพอ ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มากเกินไปในผู้ป่วยที่ได้รับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เพราะยานี้อาจทำให้มีความอยากอาหารมากขึ้น
3.5 สภาพอากาศมีผลกระทบต่อระยะเวลาของโรคหรือไม่?
ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าสภาพอากาศมีผลต่ออาการแสดงของโรค
3.6 ผู้ป่วยสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่?
ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อนและให้กุมารแพทย์เป็นผู้ดูแลนัดหมายการฉีดวัคซีนให้เหมาะสมตามอายุ โดยทั่วไปการฉีดวัคซีนไม่ทำให้โรคกำเริบและไม่เป็นสาเหตุของการแพ้อย่างรุนแรงในฐานข้อมูลผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นเนื่องจากมีสมมติฐิฐานว่าทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือสารชีวภาพ
3.7 ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเกี่ยวกับชีวิตทางเพศ การตั้งครรภ์ การคุมกำเนิด?
จนกระทั่งปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อห้ามสำหรับการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติหรือการตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่ได้รับยาควรระมัดระวังถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลข้างเคียงของยาต่อทารกในครรภ์ ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในเรื่องเกี่ยวกับการคุมกำเนิดและการตั้งครรภ์