โรคไข้กลับซ้ำที่เกิดจากความบกพร่อง TRAPS Tumor Necrosis Factor Receptor Associated Periodic Syndrome (TRAPS) หรือ Familial Hibernian Fever 


ฉบับแปลของ 2016
diagnosis
treatment
causes
TNF Receptor Associated Periodic Syndrome (TRAPS)
โรคไข้กลับซ้ำที่เกิดจากความบกพร่อง TRAPS Tumor Necrosis Factor Receptor Associated Periodic Syndrome (TRAPS) หรือ Familial Hibernian Fever
TRAPS คือโรคไข้กลับซ้ำที่เกิดจากความบกพร่องของพันธุกรรมทำให้เกิดการอักเสบในหลายระบบของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการไข้สูงเป็นๆหายต่อเนื่องกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ ร่วมกับเกิดอาการทางระบบทางเดินอาหาร (ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย) ผื่นอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ตาบวม บางรายที่ป่วยเป็นระยะเวลานาน อาจมีการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้เกิดการรั่วของโปรตีนออกมาทางปัสสาวะ 1
evidence-based
consensus opinion
2016
PRINTO PReS
1. โรค TRAPS คืออะไร
2. การวินิจฉัยและการรักษา
3. ผลรบกวนต่อกิจวัตรประจำวัน



1. โรค TRAPS คืออะไร

1.1 โรคนี้เป็นอย่างไร?
TRAPS คือโรคไข้กลับซ้ำที่เกิดจากความบกพร่องของพันธุกรรมทำให้เกิดการอักเสบในหลายระบบของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการไข้สูงเป็นๆหายต่อเนื่องกันประมาณ 2-3 สัปดาห์ ร่วมกับเกิดอาการทางระบบทางเดินอาหาร (ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย) ผื่นอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ตาบวม บางรายที่ป่วยเป็นระยะเวลานาน อาจมีการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้เกิดการรั่วของโปรตีนออกมาทางปัสสาวะ

1.2 โรคนี้เกิดบ่อยแค่ไหน?
โรคนี้ถือเป็นโรคหายาก ดังนั้นจึงไม่ทราบความชุกของโรคในปัจจุบัน สามารถเกิดได้ในหญิงและชายเท่าๆกัน และมักเกิดในช่วงวัยเด็ก อย่างไรก็ตามมีรายงานผู้ป่วยบางรายที่เกิดในช่วงวัยผู้ใหญ่เช่นกัน
ผู้ป่วยรายแรกที่มีในรายงานคือผู้ป่วยที่มีบรรพบุรุษมาจากคนเชื้อชาติไอริช-สกอต อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าเจอในคนเชื้อชาติอื่นเช่นเดียวกัน: เช่น ฝรั่งเศส อิตาเลียน ยิว อาร์เมเนีย อาหรับ
การดำเนินของโรคไม่สัมพันธ์กับอากาศหรือฤดูกาล

1.3 สาเหตุของการเกิดโรคคืออะไร?
โรค TRAPS นี้เกิดจากความผิดปกติของโปรตีน Tumor Necrosis Factor Receptor I (TNFRI) ซึ่งส่งผลให้เกิดการอักเสบขึ้นในร่างกาย TNFRI เป็นตัวรับที่เฉพาะเจาะจงกับโมเลกุลตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบ ที่เราเรียกว่า tumor necrosis factor (TNF) ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงความเชื่อมโยงระหว่างความผิดปกติของโปรตีน TNFRI และความรุนแรงของผู้ป่วย TRAPS อย่างไรก็ตามภาวะการบาดเจ็บ การเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ รวมทั้งความเครียดสามารถกระตุ้นให้อาการกำเริบได้

1.4 การถ่ายทอดความผิดปกติในครอบครัว?
TRAPS เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดแบบยีนเด่น หมายความว่า สารพันธุกรรมที่ผิดปกตินี้สามารถถ่ายทอดมาจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคและมีความผิดปกติของยีน TNFRI ในคนปกติจะมียีนอยู่ด้วยกัน 2 ชุด ดังนั้นโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะได้รับยีนจากพ่อหรือแม่ที่ผิดปกติ คือ 50% อย่างไรก็ตามการกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้ ในกรณีนี้ถึงพ่อหรือแม่ไม่มียีนผิดปกติ ลูกก็สามารถมียีนที่ผิดปกติได้หากมีการกลายพันธุ์ของยีนชนิดนี้เกิดขึ้นในช่วงปฏิสนธิ ในกรณีนี้ความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่แน่นอน

1.5 เพราะเหตุใดบุตรถึงเป็นโรค? จะมีการป้องกันการเกิดโรคหรือไม่?
TRAPS เป็นโรคทางพันธุกรรม ดังนั้นบุคคลที่มีการกลายพันธุ์ของยีนอาจจะแสดงหรือไม่แสดงอาการก็เป็นได้ โรคนี้ไม่สามารถป้องกันได้

1.6 โรคเป็นโรคติดต่อหรือไม่?
โรคนี้ไม่เป็นโรคติดต่อ โรคนี้ถ่ายทอดกันทางสารพันธุกรรมเท่านั้น

1.7 อาการสำคัญมีอะไรบ้าง?
อาการที่พบบ่อยได้แก่อาการไข้สูงหนาวสั่นเป็นๆหายๆ ซึ่งมักเป็นอยู่นานประมาณ 2-3 สัปดาห์ บางครั้งสั้นบางครั้งยาว ร่วมกับอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่มักเป็นรุนแรงและเกิดขึ้นที่บริเวณลำตัวและแขนขาส่วนต้น ตามมาด้วยอาการผื่นแดงที่มักมีอาการปวดหรือเจ็บมากร่วมด้วย
ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการปวดลักษณะเหมือนเป็นตะคริวในช่วงอาการกำเริบ และจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และย้ายไปที่ส่วนอื่นของร่างกาย เช่น แขน ขา และตามมาด้วยอาการของผื่น ส่วนอาการที่พบบ่อยอีกอย่างคือ ปวดทั่วๆท้อง ร่วมกับคลื่นไส้และอาเจียน อาการอักเสบของเยื่อบุตา (ตาขาว) หรือบวมรอบๆตา เป็นลักษณะหนึ่งของ TRAPS ด้วยเช่นกัน ถึงแม้อาการเหล่านี้จะสามารถพบในโรคอื่นได้ ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการเจ็บหน้าอกจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือถุงเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
ผู้ป่วยบางรายโดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่จะมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นๆหายๆและเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้อง ปวดกล้ามเนื้อและข้อ โดยอาจมีหรือไม่มีไข้ร่วมด้วย แต่จะมีค่าอักเสบที่สูงอยู่ตลอด ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้คือภาวะ amyloidosis ซึ่งเป็นภาวะที่รุนแรงและเรื้อรัง พบได้ประมาณ 14% ของผู้ป่วย การเกิดภาวะนี้เนื่องจากมีโปรตีน amyloid A ซึ่งถูกสร้างในระหว่างมีการอักเสบ และมีการสะสมบริเวณไตทำให้มีโปรตีนรั่วและทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้

1.8 ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการเหมือนกันหรือไม่?
ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแตกต่างกัน ในแง่ของระยะเวลาการเกิดโรคและระยะเวลาในการเกิดอาการซ้ำซึ่งจะไม่เท่ากัน อาการและอาการแสดงในแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน ทั้งนี้อาจอธิบายได้จากความผิดปกติทางพันธุกรรม


2. การวินิจฉัยและการรักษา

2.1 วินิจฉัยได้อย่างไร?
การวินิจฉัยอาศัยประวัติของผู้ป่วยที่มีลักษณะอาการที่เข้าได้กับโรคนี้ ร่วมกับประวัติการเกิดอาการลักษณะเดียวกันในเครือญาติ และ การตรวจร่างกายพบความผิดปกติ
การตรวจเลือดมักพบค่าการอักเสบ และการตรวจเฉพาะทางพันธุกรรมจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค
ทั้งนี้ควรตัดโรคอื่นๆที่ทำให้มีไข้กลับซ้ำ เช่นโรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง และโรคไข้กลับซ้ำที่เกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรค Familial Mediterranean fever (FMF) และโรค Mevalonate kinase deficiency (MKD) ที่อยู่ในข่ายต้องสงสัยออกไปด้วย

2.2 การตรวจทางห้องปฏิบัติการมีอะไรบ้าง?
การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่สำคัญได้แก่การตรวจเลือดพบ CBC, CRP, SAA (serum Amyloid-A-protien) และ fibrinogen ซึ่งเป็นค่าการอักเสบที่สูงขึ้นในช่วงที่ผู้ป่วยมีอาการกำเริบ ค่าต่างๆดังกล่าวมักจะกลับมาเป็นปกติในช่วงที่ผู้ป่วยหายดี
การตรวจปัสสาวะก็เพื่อจะดูว่าผู้ป่วยมีการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะร่วมด้วยหรือไม่ โดยทั่วไปในแต่ละครั้งที่ผู้ป่วยมีอาการของโรค อาจมีโปรตีนหรือเม็ดเลือดแดงรั่วมาในปัสสาวะชั่วคราว แต่หากพบการรั่วของโปรตีนเรื้อรัง อาจเป็นเพราะผู้ป่วยเกิดภาวะ amyloidosis
การตรวจพบความผิดปกติของสารพันธุกรรม TNFRI จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค

2.3 การรักษามีอะไรบ้าง?
ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาด หรือป้องกันได้ การรักษาในขณะนี้เป็นเพียงเพื่อลดความรุนแรงของอาการ โดยยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (NSAIDs เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน หรืออินโดเมธาซิน) ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ขนาดสูงมักได้ผลดีแต่หากใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ สำหรับสารชีวภาพ (biologic agent) ที่มีฤทธิ์ต้าน TNF เช่น อีทาเนอร์เซปนั้นพบว่าได้ผลในการป้องกันการเกิดไข้ซ้ำในผู้ป่วยบางราย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเกิดโรคกำเริบบ่อยขึ้นในผู้ป่วยรายอื่นๆ สำหรับยาตัวอื่นที่มีแนวโน้มจะช่วยในการรักษาได้แก่ อะนาคินรา ซึ่งเป็นสารน้ำชีวภาพที่มีฤทธิ์ต้าน IL-1 สารสำคัญอีกตัวที่ก่อให้เกิดการเกิดการอักเสบ

2.4 ผลข้างเคียงของยา
ผลข้างเคียงของยาขึ้นกับยาที่ใช้ในการรักษา สำหรับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่ สเตียรอยด์ (NSAIDs) อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ มีแผลในกระเพาะอาหาร และไตอักเสบ ส่วนยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ และสารชีวภาพ (ชนิดต้าน TNF และ IL-1) นั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อ นอกจากนี้คอร์ติโคสเตียรอยด์อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงอื่นๆที่เป็นอันตรายอีกหากใช้เป็นระยะเวลานานๆ

2.5 ระยะเวลาของการรักษา?
เนื่องจากยังมีผู้ป่วยจำนวนไม่มากที่ได้รับการรักษาด้วยสารชีวภาพที่มีฤทธิ์ต้าน TNF และIL-1 จึงยังไม่มีบทสรุปแน่ชัดว่าควรจะรักษาเฉพาะเมื่อมีอาการกำเริบหรือควรจะให้ยาต่อเนื่อง แต่ยังไม่ทราบว่าควรให้ยานานเท่าไร

2.6 มีการรักษาแพทย์ทางเลือกหรือไม่?
ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าการรักษาอื่นๆ เช่นยาสมุนไพรจะได้ผลในการรักษาโรคนี้

2.7ควรติดตามการรักษาบ่อยแค่ไหน?
ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ควรตรวจเลือดและปัสสาวะทุก 2-3 เดือน

2.8 ระยะเวลาการเป็นโรค?
โรคนี้มักเป็นไปตลอดชีวิต ถึงแม้ว่าความรุนแรงของไข้อาจลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงเรื้อรังและเป็นๆหายๆอยู่ อย่างไรก็ตามถึงอาการจะลดลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นแต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีโอกาสเกิดภาวะ amyloidosis

2.9 โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
เนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม ในปัจจุบันโรคนี้ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้


3. ผลรบกวนต่อกิจวัตรประจำวัน

3.1 ผลกระทบต่อผู้ป่วยและครอบครัว?
ช่วงที่อาการกำเริบบ่อยๆ และการกำเริบที่ยาวนานจะมีผลรบกวนกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยหรือผู้ปกครองได้ โรคนี้มักได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ทำให้ผู้ปกครองเกิดความวิตกกังวล และบางครั้งก็มีการทำหัตถการที่ไม่จำเป็น

3.2 สามารถไปโรงเรียนได้หรือไม่?
ช่วงที่มีอาการกำเริบผู้ป่วยอาจต้องขาดเรียนบ่อย ดังนั้นควรแจ้งให้ครูทราบรายละเอียดของโรคด้วยและการดูแลเมื่อโรคกำเริบ เพื่อให้เข้าใจและช่วยแก้ปัญหา ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาดีอาจไม่จำเป็นต้องขาดเรียนบ่อย

3.3 ควรงดออกกำลังกายหรือไม่?
ไม่จำเป็นต้องงดออกกำลังกาย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องงดการเล่นกีฬาเมื่อโรคกำเริบ ทำให้เป็นอุปสรรคที่จะเข้าร่วมทีมกับเพื่อนๆ

3.4 มีอาหารที่ควรงดหรือไม่?
ไม่มีอาหารต้องห้าม

3.5 อุณหภูมิมีผลต่อโรคหรือไม่?
อากาศหรือฤดูกาลไม่มีผลต่อตัวโรค

3.6 มีข้อห้าในการรับวัคซีนหรือไม่?
โดยทั่วไปเด็กควรได้รับวัคซีนในการป้องกันโรค แม้อาจกระตุ้นให้เกิดโรคกำเริบก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกของคุณมีแผนที่จะได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ หรือสารชีวภาพ การได้รับวัคซีนก่อนก็มีความจำเป็นในการป้องกันโรค

3.7 การมีเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์และการมีบุตร สามารถมีได้หรือไม่?
ไม่มีข้อห้ามในการมีเพศสัมพันธ์และมีบุตร อย่างไรก็ตามครอบครัวควรตระหนักว่ามีโอกาสที่บุตรจะเป็นโรคได้ 50% ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์เพื่อพิจารณาร่วมกันในการรักษาและป้องกันความเสี่ยง


 
สนับสนุนโดย
This website uses cookies. By continuing to browse the website you are agreeing to our use of cookies. Learn more   Accept cookies