1.1 โรคนี้เป็นอย่างไร?
โรคไข้กลับซ้ำที่สัมพันธ์กับ cryopyrin (CAPS) ประกอบด้วยกลุ่มโรค autoinflammatory ที่เป็นโรคหายาก ได้แก่ Familial Cold Autoinflammatory Syndrome (FCAS), Muckle-Wells Syndrome (MWS) และ Chronic Infantile Neurologic Cutaneous Articular syndrome (CINCA) หรือที่เรียกกันว่า Neonatal Onset Multi-systemic Inflammatory Disease (NOMID) แรกเริ่มโรคเหล่านี้ไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มโรคเดียวกันถึงแม้ว่าจะมีอาการที่คล้ายคลึงกันก็ตาม ผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ผื่นผิวหนังที่มีลักษณะคล้ายลมพิษ และอาการทางข้อ ซึ่งความรุนแรงของข้ออักเสบสัมพันธ์กับการอักเสบที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย
โรคสามโรคมีความรุนแรงของโรคต่างกันดังนี้ FCAS เป็นโรคที่รุนแรงน้อยที่สุด CINCA (NOMID) รุนแรงมากที่สุด และผู้ป่วยที่เป็น MWS รุนแรงปานกลาง
ลักษณะของโรคในระดับโมเลกุลแสดงให้เห็นถึงยีนที่กลายพันธุ์ซึ่งเป็นยีนชนิดเดียวกันทั้งสามโรค
1.2 พบบ่อยแค่ไหน?
โรค CAPS เป็นโรคที่หายาก พบผู้ป่วยเพียงไม่กี่รายจากประชากรล้านคน แต่ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากยังวินิจฉัยโรคนี้ไม่ได้ความชุดของโรคจึงต่ำ โรค CAPS สามารถเกิดได้ในทุกประเทศทั่วโลก
1.3 สาเหตุของโรคคืออะไร?
โรค CAPS เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ยีนที่ผิดปกติใน 3 โรค (FCAS, MWS, CINCA/NOMID) ชื่อ CIAS1 (หรือ NLRP3) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโปรตีน cryopyrin โปรตีนชนิดนี้มีบทบาทในการเกิดการอักเสบในร่างกาย หากมีความผิดปกติของยีน โปรตีนนี้จะมีการทำงานเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการอักเสบเพิ่มขึ้นในร่างกาย อาการการอักเสบที่เกิดขึ้นเป็นอาการแสดงในโรค CAPS นั่นเอง
ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรค CINCA/NOMID ไม่พบการกลายพันธุ์ของยีน CIAS1 อย่างไรก็ตามความผิดปกติของยีนมีความสัมพันธ์กับการอาการของโรคเช่นเดียวกัน ได้แก่ พบยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ในขณะที่ไม่พบยีนที่กลายพันธุ์ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง นอกจากความผิดปกติของยีนแล้วนั้น สภาพแวดล้อมก็อาจจะมีผลกับความรุนแรงและอาการของโรค
1.4 โรคนี้ถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่?
โรค CAPS เป็นโรคที่ถ่ายทอดพันธุกรรมแบบยีนเด่น หมายความว่าโรคนี้ถ่ายทอดจากพ่อหรือแม่ที่เป็นโรคและมีความผิดปกติของยีน CIAS1หนึ่งชุด เนื่องจากในคนปกติจะมียีนอยู่ 2 ชุดในร่างกาย ดังนั้นโอกาสเสี่ยงที่พ่อหรือแม่ที่มียีน CIAS1 กลายพันธุ์จะถ่ายทอดให้ลูกเท่ากับร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามการกลายพันธุ์สามารถเกิดขึ้นเองได้ โดยที่พ่อหรือแม่ไม่ได้เป็นโรคและไม่ได้มียีนผิดปกติ ยีน CIAS1นี้สามารถเกิดความผิดปกติขึ้นเองในระหว่างที่มีการปฏิสนธิในครรภ์ ในกรณีนี้โอกาสเสี่ยงที่เด็กจะเป็นโรคนั้นไม่แน่นอน
1.5 โรคนี้เป็นโรคติดต่อหรือไม่?
โรค CAPS ไม่ใช่โรคติดต่อ
1.6 มีอาการหลักเป็นอย่างไร?
มีผื่นขึ้นในทั้งสามโรค มักจะมาด้วยอาการนี้เป็นสิ่งแรก ไม่ว่าจะเป็นโรคไหนก็ตามลักษณะผื่นจะคล้ายกัน คือ เป็นผื่นเม็ดแดงๆเล็กๆนูนเล็กน้อย ย้ายที่ไปมา (ลักษณะคล้ายผื่นลมพิษ) มักจะไม่คัน ผื่นจะเป็นมากหรือน้อยจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายและตามสภาวะของโรคขณะนั้น
โรค FCAS เมื่อก่อนรู้จักกันในชื่อของ familial cold urticaria (ผื่นลมพิษเวลาอากาศหนาว) มาด้วยอาการไข้กลับซ้ำแต่จะเป็นไข้แค่ช่วงสั้นๆ ผื่นขึ้นและปวดข้อ โดยจะเป็นมากเวลาอากาศหนาว นอกจากนี้ยังมีอาการตาขาวอักเสบและปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อาการมักจะเกิดประมาณ 1-2 ชม.หลังจากเจออากาศเย็นหรือเจออากาศทที่เปลี่ยนแปลงไป และระยะเวลาที่โรคกำเริบจะเป็นไม่นาน (น้อยกว่า 24 ชม.) อาการนี้จะหายได้เอง (แปลว่าหายโดยไม่ต้องรักษา) ผู้ป่วยมักจะบอกว่ามีอาการดีช่วงเช้าหลังจากนอนบนเตียงที่อบอุ่น แต่จะมีอาการแย่ลงในช่วงเวลาระหว่างวันที่เจออากาศเย็น ผู้ป่วยมักมีอาการตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 6 เดือนแรก หากตรวจเลือดก็จะพบว่ามีการอักเสบเกิดขึ้น คุณภาพชิวิตของผู้ป่วยโรคนี้จะแตกต่างกันไปขึ้นกับความถี่และความรุนแรงของอาการ อย่างไรก็ตามมักจะไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนในภายหลัง เช่น หูหนวกและ amyloidosis
โรค MWS มาด้วยอาการไข้กลับซ้ำและผื่นขึ้น ร่วมกับการอักเสบของข้อและตา ถึงแม้ว่าผู้ป่วยมักจะไม่มีไข้ขึ้นก็ตาม ส่วนอาการที่พบบ่อยอีกอย่างคือ อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด การดำเนินโรคแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย จากผู้ที่มีอาการเป็นๆหายๆ ถึงเป็นตลอดไม่มีช่วงที่หายเลย เช่นเดียวกับในโรค FCAS ผู้ป่วยโรค MWS มักจะมีอาการแย่ลงในช่วงเย็น อาการมักเป็นในช่วงที่เด็กเล็กแต่ในบางรายก็มาในวัยเด็กโต
อาการหูหนวกเป็นอาการที่พบได้บ่อย (เกิดประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย) และมักเกิดในช่วงเด็กโตหรือช่วงวัยรุ่น ส่วน amyloidosis เป็นภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่สุดของโรคนี้ และสามารถเกิดในช่วงที่เป็นผู้ใหญ่ พบได้ประมาณร้อยละ 25 ของผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อนนี้เกิดจากการตกตะกอนของ amyloid ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะบางชนิด (เช่น ไต ลำไส้ ผิวหนัง หัวใจ) การตกตะกอนนี้ทำให้อวัยวะนั้นมีการทำงานที่ลดลง โดยเฉพาะไต ซึ่งจะมาด้วยอาการโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ตามมาด้วยการทำงานของไตที่ลดลง ภาวะนี้ไม่ได้พบเฉพาะโรคในกลุ่ม CAPS แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในโรคที่มีการอักเสบเรื้อรัง
การอักเสบในเลือดจะเกิดขึ้นในช่วงที่อาการกำเริบหรือจะพบการอักเสบอยู่ตลอดในรายที่มีอาการรุนแรงเนื่องจากผู้ป่วยมีอาการอยู่ตลอดเวลา คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแตกต่างกันในแต่ละราย
โรค CINCA (NOMID) เป็นโรคที่มีความรุนแรงมากที่สุดในสามโรคนี้ ผู้ป่วยจะมาด้วยผื่นเป็นอาการแรกและเป็นตั้งแต่เกิดหรือในช่วงทารกตอนต้น หนึ่งในสามของผู้ป่วยอาจจะเกิดก่อนกำหนดหรือตัวเล็กตั้งแต่เกิด ไข้จะเป็นๆหายๆ ไม่รุนแรงหรือในบางรายก็อาจจะไม่มีไข้ ผู้ป่วยมักจะบ่นว่าอ่อนเพลีย
ความรุนแรงของอาการทางข้อและกระดูกจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการแค่ปวดข้อหรือข้อบวมชั่วคราวในช่วงที่โรคกำเริบ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงและทำให้ข้อติดและพิการ เนื่องจากกระดูกอ่อนข้างที่มีการอักเสบมีการเจริญ เติบโตอย่างรวดเร็ว การที่กระดูกเติบโตเร็วเช่นนี้ทำให้ข้อดูผิดรูป และยังคงมีอาการปวดและข้อติดตามมา ข้อที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ ข้อเข่า ข้อเท้า ข้อมือและข้อศอก ผู้ป่วยมักเป็นทั้งสองข้างเท่าๆกัน การตรวจทางรังสีพบความผิดปกติชัดเจน กระดูกที่จะมีการเจริญเติบโตมากขึ้นซึ่งมักเกิดในช่วงแรกของชีวิตก่อนอายุ 3 ปี
พบความผิดปกติของระบบประสาทในผู้ป่วยเกือบทุกรายและพบเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดปราศจากชื้อเรื้อรัง (เยื่อหุ้มสมองและไขสันหลังอักเสบแบบปราศจากเชื้อ) การอักเสบแบบนี้ทำให้เกิดอาการความดันในสมองสูงเรื้อรัง อาการแสดงจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย อาการเหล่านี้ ได้แก่ อาการปวดศีรษะ บางครั้งมีอาเจียนร่วมด้วย อาการหงุดหงิดง่ายในเด็กเล็ก และมีจานประสาทตาบวม (ซึ่งตรวจได้ด้วยผู้เชี่ยวชาญในการตรวจ) อาการชักและการเรียนรู้ลดลงเกิดขึ้นได้ในบางครั้งในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
ส่วนอาการทางตา; การอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ที่ส่วนหน้าและส่วนหลังของตา ไม่ว่าจะมีจานประสาทตาบวมหรือไม่ก็ตาม อาการเหล่านี้จะแย่ลงไปเรื่อยๆจนถึงการสูญเสียการมองเห็นในช่วงวัยผู้ใหญ่ (ตาบอด) อาการหูหนวกเป็นอีกอาการที่พบบ่อยและมักจะมีอาการในช่วงเด็กตอนปลายหรือช่วงปลายของชีวิต ส่วนภาวะ amyloidosis จะเกิดขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้น ซึ่งพบได้ ร้อยละ 25 ของผู้ป่วย ส่วนการเจริญเติบโตที่ล่าช้าและการเป็นหนุ่มเป็นสาวช้ากว่าวัยอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของการอักเสบเรื้อรัง นอกจากนี้จะพบค่าอักเสบในเลือดสูงอยู่เสมอ เมื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วนในผู้ป่วยที่เป็นโรค CAPS เกือบทุกรายพบว่าอาการของโรคทั้งสามคาบเกี่ยวกันไปมา ผู้ป่วยที่เป็น MWS อาจคิดว่าเด็กมีอาการเข้าได้กับโรค FCAS เช่น แพ้ต่ออากาศเย็น (เช่น อาการกำเริบบ่อยขึ้นเมื่ออยู่ในฤดูหนาว) หรืออาการอาจมาด้วยอาการทางระบบประสาทที่ไม่รุนแรง เช่น อาการปวดศีรษะ หรือจานประสาทตาบวมแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งเป็นอาการที่พบในโรค CINCA (NOMID) อาการทางระบบประสาทจะชัดเจนขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอายุมากขึ้น ปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่ามีสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยที่เป็นโรค CAPS แบบไม่รุนแรง (เช่น โรค FCAS หรือ MWS แบบไม่รุนแรง) มีอาการรุนแรง เช่น มีการเจริญเติบโตของกระดูกที่มากกว่าปกติหรืออาการทางระบบประสาทที่รุนแรงซึ่งอาการเหล่านี้เป็นอาการของโรค CINCA (NOMID) ที่รุนแรง
1.7 โรคนี้เหมือนกันในเด็กทุกคนหรือไม่?
มีความแตกต่างกันอย่างมากในผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่เป็นโรค FCAS จะมีอาการรุนแรงน้อยและมีการพยากรณ์โรคที่ดีในระยะยาว ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรค MWS จะมีอาการรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสามารถมีอาการหูหนวกและภาวะ amyloidosis ได้ สำหรับโรค CINCA/NOMID จะมีความรุนแรงมากที่สุด ในบรรดากลุ่มต่างๆเหล่านี้ความแตกต่างของอาการต่างๆ จะขึ้นกับความรุนแรงของอาการทางระบบประสาทและทางข้อเป็นหลัก
2.1 วินิจฉัยโรคได้อย่างไร?
การวินิจฉัยโรค CAPS ขึ้นกับอาการและอาการแสดงของโรคก่อนจะยืนยันด้วยผลการตรวจทางพันธุกรรม การวินิจฉัยแยกโรคระหว่าง FCAS และ MWS หรือ MWS และ CINCA/NOMID ค่อนข้างยากเพราะมีอาการและอาการแสดงที่คาบเกี่ยวกัน การตรวจตา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรวจด้วย fundoscopy), การตรวจน้ำไข้สันหลัง (ด้วยการเจาะน้ำในหลังไปตรวจ) และการตรวจทางรังสีมีส่วนช่วยในการแยกโรคเหล่านี้ออกจากกัน
2.2 โรคนี้รักษาได้ให้หายได้หรือไม่?
โรค CAPS เป็นโรคที่รักษาไม่หายเนื่องจากเป็นโรคทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามปัจจุบันได้มีการศึกษาถึงสาเหตุของโรคมากขึ้น จึงมีการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ เพื่อจะรักษาและควบคุมอาการโรค CAPS ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาถึงผลข้างเคียงระยะยาวจากยา
2.3 การรักษาประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?
การศึกษาวิจัยในปัจจุบันทางพันธุกรรมและพยาธิวิทยาของโรค CAPS พบว่ามีโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีอิทธิพลกับการอักเสบมาก คือ IL-1 ถูกสร้างเพิ่มขึ้นมากในภาวะนี้และพบว่าโปรตีนชนิดนี้มีบทบาทมากในช่วงระยะแรกของโรค ปัจจุบันมียาหลายชนิดที่มีฤทธิ์ต้าน IL-1 (ยับยั้ง IL-1) ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ยาชนิดแรกในกลุ่มนี้ที่ใช้รักษาโรคนี้คือ
อะนาคินรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิผลที่ดีในการควบคุมการอักเสบ ผื่น ไข้ อาการปวดและอ่อนเพลียซึ่งเป็นอาการของโรค CAPS นอกจากนี้การรักษานี้ยังได้ผลดีในการรักษาอาการทางระบบประสาทอีกด้วย ในบางภาวะอาจจะช่วยทำให้อาการหูหนวกดีขึ้นและช่วยควบคุมภาวะ amyloidosis ได้ด้วย แต่ยาชนิดนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องกระดูกที่เจริญเติบโตเร็วกว่าปกติ อย่างไรก็ตามขนาดของยาที่ใช้ขึ้นกับความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยแต่ละรายและควรจะให้การรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะเกิดการอักเสบเรื้อรังและทำให้เกิดการทำลายของอวัยวะต่างๆ ที่ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ เช่น หูหนวกหรือภาวะ amyloidosis การบริหารยาต้องฉีดชั้นใต้ผิวหนังทุกวัน สามารถพบอาการบวมแดงได้ในบริเวณที่ฉีด และจะหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป ริโลนาเซป เป็นยาอีกชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้าน IL-1 ซึ่งได้รับการอนุมัติโดยองค์กรอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration in USA หรือ FDA) สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 11 ปี ขึ้นไปที่เป็นโรค FCAS หรือ MWS การบริหารยาชนิดนี้ คือใช้วีธีฉีดเข้าใต้ผิวหนังสัปดาห์ละครั้ง ส่วน
คานาคินูแมบ เป็นยาอีกชนิดที่มีฤทธิ์ต้าน IL-1 ล่าสุดเพิ่งได้รับการอนุมัติจากองค์กรอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) และประเทศแถบยุโรป (European Medicines Agency หรือ EMA) ให้ใช้รักษาโรค CAPS ได้ในผู้ป่วยที่มีอายุ 2 ปีขึ้นไป ในผู้ป่วย MWS ยาชนิดนี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลที่ดีใน การควบคุมการอักเสบ โดยใช้วิธีฉีดเข้าชั้นใต้ผิว หนังทุก 4 ถึง 8 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นโรค ทางพันธุกรรมการรักษาด้วยยาต้านฤทธิ์ IL-1 ต้องใช้เวลานาน ถึงแม้จะไม่ได้ให้ยาชนิดนี้ตลอดชีวิตก็ตาม
2.4 โรคนี้เป็นนานแค่ไหน?
โรค CAPS เป็นโรคที่เป็นตลอดชีวิต
2.5 มีการพยากรณ์โรคระยะยาวเป็นอย่างไร?
การพยากรณ์ระยะยาวของโรค FCAS ค่อนข้างดีแต่จะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเวลาอาการไข้กำเริบ ส่วนในโรค MWS การพยากรณ์โรคระยะยาวขึ้นกับภาวะ amyloidosis และการทำงานของไตที่ลดลงและหูหนวกเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยเช่นกัน ในผู้ป่วยโรค CINCA จะมีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติในช่วงที่มีการดำเนินของโรค การพยากรณ์โรคระยะยาวขึ้นกับอาการทางระบบประสาทและทางข้อว่ารุนแรงหรือไม่ เนื่องจากการเจริญเติบโตของกระดูกที่มากกว่าปกติทำให้เกิดภาวะทุพลภาพ ในผู้ป่วยบางรายอาจตายตั้งแต่แรกเกิดหากมีอาการรุนแรง การรักษาด้วยยาต้าน IL-1 ช่วยบรรเทาอาการของโรคในกลุ่ม CAPS และให้การพยากรณ์โรคที่ดีขึ้น
3.1 โรคมีผลกระทบกับผู้ป่วยและครอบครัวในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไร?
คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมักจะได้รับผลกระทบจากการมีไข้กลับซ้ำ เนื่องจากกว่าจะได้รับการวินิจฉัยใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้ผู้ปกครองเกิดความกังวล รวมถึงอาจมีการทำหัตถการที่ไม่จำเป็นแก่ผู้ป่วยได้
3.2 สามารถไปเรียนได้หรือไม่?
ควรให้การสนับสนุนทางการศึกษาในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบางประการที่อาจเกิดปัญหากับเด็กที่โรงเรียน ดังนั้นควรจะอธิบายถึงการดูแลผู้ป่วยให้ครูได้ทราบ รวมถึงให้ผู้ปกครองและครูเข้าใจว่าสามารถให้ผู้ป่วยเข้าร่วมกิจกรรมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆและครู ในอนาคตควรให้มีการรวมตัวกันในทุกภาคส่วนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยเหล่านี้ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่อไป
3.3 สามารถเล่นกีฬาได้หรือไม่?
การเล่นกีฬามีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็กทุกๆคน เป้าหมายหนึ่งของการรักษาคือเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถมีชีวิตประจำวันได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป ดังนั้นผู้ป่วยสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆได้แต่อาจจะจำกัดหากอยู่ในภาวะที่โรคกำเริบ
3.4 สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติหรือไม่?
ไม่มีอาหารที่ห้ามรับประทานในผู้ป่วยโรคนี้ โดยทั่วไปผู้ป่วยควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการในวัยนั้นๆ และแนะนำให้รับประทานอาหารที่ดีและสมดุลซึ่งประกอบไปด้วยโปรตีน แคลเซี่ยมและวิตามินโดยเฉพาะในเด็กที่กำลังเจริญเติบโต
3.5 สภาวะอากาศมีผลกับการดำเนินของโรคหรือไม่?
อากาศเย็นอาจมีผลในการกำเริบของโรค
3.6 สามารถได้รับวัคซีนได้หรือไม่?
สามารถรับวัคซีนได้และแนะนำให้รับวัคซีน อย่างไรก็ตามควรแจ้งกับแพทย์ผู้ดูแลก่อนได้รับวัคซีนเชื้อเป็นเกี่ยวกับโรคของผู้ป่วย หากได้รับการรักษาอยู่คำแนะนำเรื่องการให้วัคซีนอาจต้องดูเป็นรายๆไป
3.7 สามารถมีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์ หรือคุมกำเนิดได้หรือไม่?
ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการศึกษาที่ผ่านมา แต่โดยทั่วไปเหมือนโรคในกลุ่ม autoinflammatory อื่นๆ คือควรมีการวางแผนการตั้งครรภ์ก่อนเพื่อจะได้ปรับยาให้เหมาะสม เนื่องจากยาในกลุ่มสารชีวภาพอาจมีผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์