1.1 โรคข้ออักเสบ Lyme คืออะไร?
โรคข้ออักเสบ Lyme เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Borrelia burgdorferi (Lyme borreliosis) ที่แพร่โดยตัวเห็บ (Ixodes ricinus tick) ทำให้เกิดข้ออักเสบภายหลังการติดเชื้อ
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อาจมีอาการทางผิวหนัง ทางระบบประสาท หัวใจ ตาและอวัยวะอื่นๆ แต่อาการข้ออักเสบกลับเป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด อย่างไรก็ตามมักมีประวัติอาการผื่นแดงกระจายเป็นวงกว้างถัดจากบริเวณที่ถูกกัดที่เรียกว่า erythema migrans
ในผู้ป่วยบางราย หากไม่ได้รับการรักษาข้ออักเสบ Lyme อาจนำไปสู่อาการทางระบบประสาทตามมา
1.2 โรคนี้เกิดบ่อยแค่ไหน?
โรคนี้พบได้ในเด็กส่วนน้อยที่มาด้วยอาการข้ออักเสบ อย่างไรก็ตามข้ออักเสบ Lyme พบบ่อยในประเทศแถบยุโรป โดยเฉพาะในเด็กและเด็กวัยรุ่นที่มีอาการข้ออักเสบภายหลังติดเชื้อแบคทีเรีย โรคนี้มักพบในเด็กวัยเรียนอายุตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป
ส่วนใหญ่จะพบในเด็กและวัยรุ่นที่อยู่ในยุโรปตอนกลางและทางใต้ของแสกนดิเนเวีย ใกล้กับทะเลบอลติก ผู้ป่วยมักจะถูกไรกัดในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคม (ขึ้นกับอุณหภูมิและความชื้น) อย่างไรก็ตามการเกิดข้ออักเสบชนิดนี้จะเกิดช่วงเวลาใดก็ได้เนื่องจากระยะฟักตัวของโรคตั้งแต่เห็บกัดจนเกิดอาการมีระยะเวลานานและไม่แน่นอน
1.3 สาเหตุของการเกิดโรค?
โรคข้ออักเสบชนิดนี้เกิดจากเชื้อแบคที่เรียชื่อ Borrelia Burgdorferi ซึ่งเข้าทางรอยบาดแผลที่ถูกเห็บ Ixodes ricinus กัด เห็บส่วนใหญ่ไม่มีเชื้อนี้อยู่ ดังนั้นแผลที่ถูกเห็บกัดส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ และหากมีการติดเชื้อ การติดเชื้อ Lyme ส่วนใหญ่จะมีอาการแค่ผื่น erythema migrans เท่านั้น ไม่ค่อยมีอาการระบบอื่นๆ ตามมา รวมถึงอาการข้ออักเสบด้วย
ในแต่ละปีจะมีเด็กราว 1/1000 ที่มีโอกาสเกิดการติดเชื้อชนิดนี้และมีผื่นเฉพาะที่เรียกว่า erythema migrans ซึ่งมักเป็นระยะแรกของโรค ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะตั้งแต่ระยะแรก ดั้งนั้นการเกิดโรคข้ออักเสบซึ่งมักเกิดในระยะหลังของโรคจึงพบได้น้อย
1.4 มีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมหรือไม่?
โรคนี้เกิดจากการรับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะพบว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่างร่วมด้วย โดยที่ยังไม่ทราบกลไกที่แน่ชัด
1.5 เพราะเหตุใดบุตรจึงเป็นโรค? และจะมีแนวทางป้องกันโรคหรือไม่?
ในประเทศแถบยุโรปซึ่งมีเห็บชนิดนี้จำนวนมาก ดังนั้นจึงยากที่จะป้องกันเด็กจากการถูกเห็บกัด อย่างไรก็ตามเชื้อ Borrelia burgdorferi ไม่ได้ถ่ายทอดทันทีที่เห็บกัดคน ใช้เวลาถ่ายทอดหลายชม.จนถีงหนึ่งวันกว่าที่แบคทีเรียจะเข้าสู่ต่อมน้ำลายเห็บ เพื่อที่เชื้อจะออกไปกับน้ำลายเห็บเข้าสู่คน เห็บมักจะเกาะกับคนประมาณ 3-5 วันเพื่อดูดเลือด ดังนั้นควรตรวจเด็กทุกเย็นในช่วงหน้าร้อนว่ามีเห็บเกาะอยู่หรือไม่ และหากเอาเห็บออกทันที เชื้อ Borrelia burgdorferi ก็จะไม่มีโอกาสถ่ายทอดมา ยังคนได้ทัน ไม่แนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลัง จากโดนเห็บกัด
อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดผื่น erythema migrans ซึ่งเป็นอาการในระยะแรกของโรคแล้วควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การรักษาจะช่วยหยุดการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและป้องกันการเกิดข้ออักเสบ Lyme ในสหรัฐอเมริกาเคยมีการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อชนิดนี้มาก่อน แต่ถูกถอนออกจากตลาดเนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ วัคซีนชนิดนี้ไม่ควรใช้ในยุโรปเนื่องจากเชื้อโรคเป็นคนละสายพันธุ์กัน
1.6 โรคนี้ติดต่อกันทางการสัมผัสกันได้หรือไม่?
ถึงแม้ว่าเป็นโรคติดเชื้อ แต่โรคนี้ถ่ายทอดโดยผ่านรอยแผลที่ถูกเห็บบกัด โรคนี้ไม่ได้ติดต่อทางการสัมผัสโดยตรง ดังนั้นไม่สามารถติดต่อผ่านทางคน
1.7 อาการสำคัญมีอะไรบ้าง?
อาการที่พบบ่อยได้แก่อาการข้ออักเสบ (อาการข้อบวมร่วมกับมีน้ำในข้อ และเคลื่อนไหวข้อลำบาก) ข้อที่บวมมากมักจะมีอาการปวดน้อยหรือไม่ปวดเลย โดยข้อที่เป็นบ่อยที่สุดคือข้อเข่า ถึงแม้ว่าข้อใหญ่อื่นๆหรือแม้แต่ข้อเล็กอื่นๆก็สามารถอักเสบได้เช่นเดียวกัน 2/3 ของผู้ป่วยจะมีอาการแสดงเพียงข้อเดียวคือข้อเข่าอักเสบ มากกว่าร้อยละ 95 ของผู้ป่วยมาด้วยข้ออักเสบตั้งแต่ 1-4 ข้อ คนไข้ส่วนใหญ่ประมาณ 2/3 จะมีอาการข้ออักเสบเป็นๆหายๆ ทุก 2-3 วัน ถึง 2-3 สัปดาห์
การดำเนินโรคยิ่งนานการอักเสบก็จะลดลง แต่ในบางรายที่มีการอักเสบเพิ่มขึ้นและกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรัง มีบางรายเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 3 เดือน
1.8 ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการเหมือนกันหรือไม่?
ไม่เหมือนกัน โรคนี้เป็นโรคที่เกิดฉับพลัน (เช่น เป็นแค่ครั้งเดียว) หรือเป็นๆหายๆ หรือเป็นเรื้อรัง ข้ออักเสบมักเป็นฉับพลันในเด็กที่มีอายุน้อยและเรื้อรังในเด็กวัยรุ่น
1.9 โรคนี้มีความแตกต่างกันระหว่างเด็กและผู้ใหญ่หรือไม่?
ผู้ป่วยโรคนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะมีอาการใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามเด็กจะพบข้ออักเสบมากกว่าในผู้ใหญ่ ในทางตรงข้ามเด็กที่มีอายุน้อยจะมีการดำเนินโรคที่เร็วและสั้นกว่า และมีการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะดีกว่า
2.1 แนวทางการวินิจฉัยเป็นอย่างไร?
เมื่อไรก็ตามที่เด็กมาด้วยอาการข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุ ข้ออักเสบ Lyme ควรจะเป็นหนึ่งในการวินิจฉัยแยกโรค หากสงสัยโรคนี้จะยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดหรือน้ำในข้อ (ข้อที่บวมและอักเสบ)
การตรวจเลือดด้วยวิธี Enzyme Immuno Assay เพื่อหาภูมิต้านทานต่อเชื้อ Borrelia bergdorferi ร่วมกับกับการตรวจ IgM แอนติบอดีต่อเชื้อ Borrelia burgdorferi ด้วยวิธี immunoblot หรือ Western blot จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรค
หากผู้ป่วยมาด้วยอาการข้ออักเสบโดยไม่ทราบสาเหตุและตรวจพบ IgM แอนติบอดีต่อเชื้อ Borrelia burgdorferi โดยใช้วิธี Enzyme Immuno Assay และยืนยันโดย Western blot จึงสามารถวินิจฉัยข้ออักเสบ Lyme ได้ นอกจากนี้ยังสามารถยืนยันการวินิจฉัยโดยการตรวจน้ำในข้อเพื่อหายีนของ Borrelia burgdorferi โดยใช้วิธีตรวจ polymerase chain reaction อย่างไรก็ตามการตรวจวิธีนี้เชื่อถือได้น้อยกว่าการตรวจแอนติบอดี เนื่องจากวิธีนี้อาจตรวจไม่พบเชื้อทั้งๆที่มีเชื้อหรืออาจตรวจว่ามีเชื้อทั้งๆที่ไม่มีเชื้อก็เป็นได้ การวินิจฉัยข้ออักเสบ Lyme ควรได้รับการวินิจฉัยโดยกุมารแพทย์ หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ กุมารแพทย์โรคข้อและรูมาติสซั่มควรมีบทบาทในการรักษาต่อไป
2.2 การตรวจทางห้องปฏิบัติการสำคัญอย่างไร?
นอกเหนือจากการตรวจเพื่อช่วยในการวินิจฉัยดังที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น การตรวจเลือดเพื่อดูค่าการอักเสบก็มีความจำเป็น นอกจากนี้อาจจำเป็นต้องตรวจหาเชื้ออื่นๆร่วมด้วยในกรณีที่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นจากเชื้ออื่นได้หรือไม่
หากตรวจพบว่าเป็นข้ออักเสบ Lyme แล้ว ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำเพื่อจะดูว่าหายขาดแล้วหรือไม่ เนื่องจากค่าที่ผิดปกตินี้จะคงอยู่ในเลือดได้นานหลายปี ไม่ได้เป็นตัวบอกการตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด
2.3 โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ร้อยละ 80 สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยยาปฏิชีวนะเพียงหนึ่งหรือสองคอร์ส แต่จะมีผู้ป่วยราวร้อยละ 10-20 ที่ยาปฏิชีวนะไม่สามารถทำให้โรคหายได้และต้องใช้ยาต้านการอักเสบชนิดอื่นช่วย
2.4 การรักษามีอะไรบ้าง?
ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์หรือยาปฏิชีวนะชนิดฉีดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หากไม่สามารถใช้ยา amoxicillin หรือ doxycycline (เฉพาะในเด็กที่อายุมากกว่า 8 ปีขึ้นไป) ได้สม่ำเสมอ การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดซึ่งได้แก่ ceftriaxone (หรือ cefotaxime) อาจได้ผลที่ดีกว่า
2.5 ผลข้างเคียงของยามีอะไรบ้าง?
ยาบางตัวอาจมีผลข้างเคียงบ้าง เช่น ท้องเสีย หรือในบางรายอาจเกิดการแพ้ยา ซี่งอาการดังกล่าวมักไม่รุนแรงและพบได้ไม่บ่อยนัก
2.6 ระยะเวลาของการรักษานานเท่าไร?
ภายหลังการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ ค่อยพิจารณาว่าผู้ป่วยที่มีอาการของข้ออักเสบหายจากโรคหรือไม่
หากข้ออักเสบไม่ดีขึ้นควรรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอีกชนิดหนึ่ง และหากยังมีข้ออักเสบ 6 สัปดาห์ภายหลังจากได้รับยาปฏิชีวนะครั้งที่ 2 ครบแล้ว ควรให้ยาต้านการอักเสบอื่นร่วมด้วย โดยทั่วไปมักใช้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์และยากลุ่ม
คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดฉีดเข้าข้อโดยมักจะฉีดเข้าข้อเข่าซึ่งพบบ่อยที่สุดในโรคนี้
2.7 ควรติดตามการรักษาบ่อยแค่ไหน?
ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจข้อเพื่อประเมินข้ออักเสบเป็นระยะๆ หากไม่มีข้ออักเสบเกิดซ้ำเป็นระยะเวลานานๆ จะมีโอกาสหายขาดมากขึ้น
2.8 ระยะเวลาการเป็นโรค?
โรคนี้มักเป็นไม่นาน ร้อยละ 80 จะหายขาดหลังจากรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหนึ่งหรือสองชนิดจนครบ มีเพียงกลุ่มน้อยที่ยังเป็นข้ออักเสบเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปี
2.9 การดำเนินโรคระยะยาวเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคนี้มัก จะหายขาดหลังจากรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจนครบ มีเพียงส่วนน้อยที่ยังเป็นข้ออักเสบเรื้อรังจนกระทั่งข้อถูกทำลาย ข้อเสื่อมหรือข้อพิการ
2.10 โรคนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่?
ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 95 ที่หายขาดภายหลังการรักษา
3.1 ผลกระทบต่อผู้ป่วยและผู้ปกครอง?
ผู้ป่วยอาจมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย ยกตัวอย่างเช่น ไม่สามารถวิ่งได้เร็วเหมือนเดิม เนื่องจากมีอาการเจ็บข้อและข้อติด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรงและปัญหาส่วนมากเล็กน้อยและเป็นแค่ชั่วคราว
3.2 สามารถไปโรงเรียนได้หรือไม่?
ในช่วงที่ข้ออักเสบ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องหยุดการเล่นกีฬาชั่วคราว ผู้ป่วยสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่ากิจกรรมใดที่สามารถเข้าร่วมได้
3.3 ควรงดออกกำลังกายหรือไม่?
ผู้ป่วยควรมีส่วนในการตัดสินใจว่ากิจกรรมใดสามารถเข้าร่วมได้ หากผู้ป่วยเคยเล่นกีฬาอยู่เป็นประจำ อาจจะดีกว่าถ้าลดกิจกรรมลงหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมตามความต้องการของผู้ป่วย
3.4 มีอาหารที่ควรงดหรือไม่?
ไม่มีข้อห้ามในการรับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษ เด็กควรได้รับโปรตีน แคลเซียมและวิตามินอย่างเพียงพอ เพื่อการเจริญเติบโต
3.5 อุณหภูมิมีผลต่อโรคหรือไม่?
ถึงแม้ว่าเห็บจะชอบอากาศอุ่นและชื้น แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อที่ข้อแล้ว อุณหภูมิหรือฤดูกาลไม่มีผลต่อตัวโรค
3.6 สามารถได้รับวัคซีนได้หรือไม่?
ไม่มีข้อห้ามในการรับวัคซีนใดๆ โรคหรือยาปฏิชีวนะที่ผู้ป่วยได้รับไม่มีผลกับประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันโรค และไม่มีผลข้างเคียงเพิ่มเติมที่เกิดจากการเป็นโรคหรือยาที่ได้รับ ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค Lyme borreliosis
3.7 สามารถมีเพศสัมพันธ์ ตั้งครรภ์หรือมีบุตรได้หรือไม่?
ไม่มีข้อห้ามในการมีเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์ หรือการมีบุตร